ต้นเหตุของคำว่า “ใครจะใหญ่เกินกรรม”

หลวงตาม้าท่านเล่าว่า มีอยู่ครั้งหนึงสมัยโน้น มีกลุ่มลูกศิษย์กลุ่มหนึ่งนั่งถกเถียงกันเกี่ยวกับประเด็นทางโลกทางธรรมอย่างเข้มข้นต่อหน้าหลวงปู่ดู่ ระหว่างนั้นหลวงปู่ดู่ท่านเพียงนั่งฟังอยู่ไม่พูดอะไรอยู่เป็นเวลานาน แล้วท่านก็พูดขึ้นลอยๆว่า “ใครจะใหญ่เกินกรรม” สิ้นเสียงคำหลวงปู่ศิษย์ทุกคนตรงนั้นก็คิดขึ้นได้และเลิกถกเถียงกัน นับว่าเป็นความอัจฉริยะของหลวงปู่โดยแท้ อันคำที่หลวงปู่กล่าวนั้นจริงแท้แน่นอนโดยธรรม เพราะธรรมะนั้นเป็นสัจธรรมตามธรรมชาติ “ใครจะใหญ่เกินกรรม”
กรรม คือ อะไร? กรรม คือ การกระทำ
การกระทำนั้นมี ๒ อย่าง
คือ
๑. การกระทำกรรมดี
๒. การกระทำกรรมชั่ว
การกระทำกรรมดี เป็นการกระทำที่เป็นบุญหรือเป็นกุศล
การกระทำกรรมชั่ว เป็นการกระทำที่เป็นบาปหรือเป็นอกุศล
ถ้าหากบุญกุศลส่งผลเมื่อไรเราก็จะพบกับความสุข ความเจริญรุ่งเรือง ความสำเร็จ ความสมหวัง ความคล่องตัว มีกำไร ป่วยอยู่ก็จะหายป่วย ที่หน่ายอยู่ก็จะกลับมารัก ฯลฯ

ถ้าหากบาปอกุศลส่งผลเมื่อไรเราก็จะพบกับความทุกข์ ความเสื่อม ความล้มเหลว ความผิดหวัง การติดขัด ขาดทุน ป่วยอยู่ก็จะตาย ที่รักอยู่ก็แหนงหน่าย ฯลฯ

ฉะนั้นคำว่า ” กรรม “ หมายถึงความดีและความไม่ดีด้วยเพราะกรรมคือการกระทำ และท่านเลือกการกระทำในขณะปัจจุบันนี้ของท่านได้เอง อย่าลืมว่าคนเราต้องมีเสบียงไว้เลี้ยงตัว หากไม่สร้างบุญบารมีไว้ ท่านจะลำบากในวันหน้า

ธรรมทาน ชนะการให้ทานทั้งปวง

การพิมพ์หนังสือธรรมะแจก เป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ อานิสงส์สูง บารมีมาก เพราะเป็นการให้ปัญญา ให้แสงสว่าง ให้ความพ้นทุกข์ ให้ความสงบ ความสุขอันแท้จริงแก่คนทั้งหลาย ให้สุขกาย สุขใจกันถ้วนทั่ว ด้วยพลังแห่งการสวดมนต์ ภาวนา วิปัสนา สมาธิ คือบุญใหญ่ อานิสงส์สูง ง่ายงามสำหรับทุกคน

การสร้างหนังสือสวดมนต์แจกเป็นมหาทาน
จึงเป็นการส่งบุญ มอบแสงสว่าง มหาสติ มหาปัญญา ให้แก่คนทั้งหลาย
ดั่งพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า…
“ผู้ใดให้ธรรมทาน ผู้นั้นชื่อว่าให้นิพพานแก่คนทั้งหลาย”